"มิลล์คอน" ลุย "เมียนมา" ขึ้นโรงงานวัสดุก่อสร้าง-โรงไฟฟ้า

28 พฤศจิกายน 2559
"มิลล์คอน" ลุย "เมียนมา" ขึ้นโรงงานวัสดุก่อสร้าง-โรงไฟฟ้า
การขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่องของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ได้ดึงดูดให้นักธุรกิจจากหลายชาติต่างหลั่งไหลเข้าไปลงทุน รวมถึงบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL หนึ่งในผู้ผลิตเหล็กสัญชาติไทย ได้ตัดสินใจเข้าไปจับมือกับพันธมิตรในเมียนมาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างขึ้นที่นิคมทิลาวา (Thilawa) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และได้ทำพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (President CEO) บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL เปิดเผยว่า โรงงานผลิตเหล็ก มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ที่ก่อตั้งในเมียนมา ภายใต้ชื่อ บริษัท มิลล์คอน ทิฮา เจล จำกัด เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง MILL ถือหุ้น 45% บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL ถือหุ้น 45% และบริษัท ทิฮากรุ๊ป (Myanmar Thiha Group of Compa-nies) ถือหุ้น 10% โดยบริษัท มิลล์คอน ทิฮา เจล สามารถเริ่มเดินเครื่องผลิตเหล็กรูปพรรณประเภทเหล็กท่อได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559

ในเฟสแรกแบ่งสัดส่วนการขายในตลาดเมียนมา 25% และส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนอีก 75% รวมถึงไทย จากนั้นในปี 2563 หรือแผนระยะ 3 ปี จะปรับสัดส่วนยอดขายในประเทศเมียนมาทั้งหมดให้เต็ม 100% สำหรับราคาเหล็กท่อที่ขายให้ลูกค้าในเมียนมา ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 700,000 จ๊าต/ตัน (ประมาณ 18,900 บาท) หรือประมาณ 18-19 บาท/กก.

สำหรับกำลังการผลิตเฟสแรกอยู่ที่ 10,000 ตัน/ปี ภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มเดินเครื่องจักรเต็มกำลัง 2 ตัว จะสามารถผลิตเหล็กได้ถึง 40,000 ตัน/ปี ขณะที่บริษัทได้มีการประเมินปริมาณความต้องการใช้เหล็กท่อในเมียนมา ซึ่งมีกว่า 20,000 ตัน ประกอบกับโครงการก่อสร้างทั้งของภาครัฐและเอกชนในประเทศเมียนมาเอง ยิ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้เหล็กท่อในประเทศเติบโตสูงถึง 10-15% ตลอด 10 ปีนี้ คาดว่าปี 2560 จะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท และโครงการจะคุ้มทุนทั้งหมดภายใน 4-5 ปี

"งานก่อสร้างในเมียนมาเริ่มหันมาใช้เหล็กท่อแทนเสาไม้สร้างบ้านเรือน อาคาร หรือแม้แต่โรงงานที่เกิดใหม่ รั้วต่าง ๆ เปลี่ยนมาใช้เหล็กท่อกันหมด ความท้าทายในการทำธุรกิจที่เมียนมาต่อจากนี้คือการทำตลาด และ MILL คงไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจเดียว แต่มีแผนจะต่อยอดไปยังธุรกิจต่อเนื่องด้วย เราใช้เวลาถึง 2 ปี เริ่มก่อสร้างโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา ทำให้เราได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลเมียนมา อาทิ ยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 7 ปี ลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มเติมอีก 8 ปี รวมถึงภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และภาษีนำเข้าเครื่องจักร 0%"

ปัจจุบันบริษัทนำเข้าวัตถุดิบเหล็กม้วนจากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงจีน ไต้หวัน และเกาหลี โดยจะพิจารณาจากสเป็กคุณภาพเหล็กตามที่บริษัทต้องการ รวมถึงเรื่องของราคาขาย ณ ขณะนั้น ซึ่งในแต่ละลอตจะนำเข้ามาตุนไว้ในสต๊อกเพราะต้องใช้เวลาในการขนส่งถึง 3 เดือน ปริมาณ 4,000-5,000 ตัน/ครั้ง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในเมียนมา เหล็กทุกประเภทยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานทั่วไปและมาตรฐานบังคับ ดังนั้นเพื่อให้มีกลไกเรื่องของเหล็กคุณภาพและให้มีความมั่นใจต่อผู้ใช้ รวมถึงเป็นการผลิตเหล็กให้ได้ตามมาตรฐานสากล ทางบริษัทจึงหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมของรัฐบาลเมียนมา และทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานเหล็กเพื่อใช้ภายในประเทศ ขณะที่บริษัทเองยอมรับว่าการไม่มีมาตรฐานในปัจจุบันถือเป็นเรื่องยากในการทำตลาด มาตรฐานจะต้องถูกควบคุมตั้งแต่กระบวนการผลิต

"หากรัฐบาลเมียนมามีมาตรฐานมากำหนดใช้ ยิ่งจะการันตีคุณภาพเหล็ก ทำให้สินค้าของบริษัททำตลาดได้ง่ายขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มกำหนดมาตรฐานสำหรับเหล็กเส้นก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจะเริ่มทยอยผลักดันให้เหล็กประเภทต่าง ๆ ทำมาตรฐานการผลิตต่อไป"

สำหรับโอกาสการทำธุรกิจในเมียนมานั้น ด้วยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 7% ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กโต 2 เท่า ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 14% ของ GDP เป็นตลาดที่กำลังเริ่มมีโครงการลงทุนจำนวนมาก อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ ทั้งเกิดการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม บวกกับการท่องเที่ยว ทำให้การทำธุรกิจที่นี่ถือว่าเติบโตดี

แต่ขณะเดียวกันยอมรับว่าในเมียนมามีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ซึ่งอุปสรรคอย่างเช่น กฎระเบียบการขอใบอนุญาต รวมถึงเรื่อง Scale Label และสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งยังมีบางอย่างที่นักลงทุนยังเข้าใจยาก แม้ว่ากฎหมายการลงทุนจะเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% มีเพียงบางธุรกิจเท่านั้นที่ไม่เปิดให้ต่างชาติลงทุน เช่น ธุรกิจเทรดดิ้ง อย่างไรก็ตามแม้จะลงทุนแค่ 1% หรือ 100% กฎหมายเมียนมาก็ถือว่าเป็นต่างชาติ ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนการลงทุนในอนาคตต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง รวมถึงแผนการศึกษาโรงไฟฟ้าซึ่งยังคงอยู่ระหว่างทำแผนศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าในเมียนมาเริ่มมีการลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ส่วนแผนการลงทุนในต่างประเทศยังคงเน้นไปที่ตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ซึ่งในประเทศเวียดนามยังคงอยู่ระหว่างการหาพาร์ตเนอร์เพื่อทำธุรกิจเหล็ก แต่เน้นบริการมากกว่าที่จะเข้าไปตั้งโรงงานผลิต เช่นเดียวกับที่ประเทศลาวเป็นการทำธุรกิจซื้อขายเทรดดิ้งเช่นกัน

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมิลล์คอนฯ มี 2 ส่วนหลัก คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัสดุก่อสร้าง สัดส่วน 90% และผลิตภัณฑ์ที่เป็นเหล็กเกรดพิเศษ สัดส่วน 10% หลังร่วมทุนกับบริษัท โกเบ สตีล จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ด้วยมูลค่า 7,800 ล้านบาท และตั้งบริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายเหล็กลวดและเหล็กลวดเกรดพิเศษ ด้วยกำลังการผลิต 480,000 ตันต่อปี โดยเป็นผู้ผลิตรายเดียวในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษเพื่อป้อนเข้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์เครื่องจักรในไทย ซึ่งสัดส่วนเหล็กเกรดพิเศษนี้จะเพิ่มเป็น 40% ในปี 2563

นายเอ ทิฮา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ทิฮากรุ๊ป (Myanmar Thiha Group of Companies) กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทมีคอนเน็กชั่นและตลาดในเมียนมา ทำให้เป็นโอกาสการร่วมทุนครั้งนี้ นอกจากนี้มีแผนที่จะร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ลงทุนกับบริษัทมิลล์คอนฯ ในโครงการอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่าง โครงการโรงไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์
 

แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.